วันพฤหัสบดีที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)

เป็นบุตรครูสิน ศิลปบรรเลง ซึ่งเป็นศิษย์ของพระประดิษฐ์ไพเราะ เป็นคนจังหวัด สมุทรสงคราม มีฝีมือในการตีระนาดที่หาตัวจับยาก จึงมีชื่อเสียงโด่งดัง ครั้นได้ตีระนาดถวายสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธ์ ก็ได้รับรางวัลมากมาย และได้ประทานตำแหน่งเป็น "จางวางมหาดเล็กในพระองค์" คนทั่วไปจึงเรียกว่า "จางวางศร"
นอกจากระนาดแล้ว ท่านยังสามารถบรรเลงปี่ได้ดี และสามารถคิดหาวิธีเป่าปี่ให้ เสียงสูงขึ้นกว่าเดิมได้อีก 2 เสียง
ในด้านการแต่งเพลง ท่านสามารถแต่งเพลงได้เร็ว และมีลูกเล่นแพรวพราว แม้ในการประกวดการประดิษฐ์ทางรับ คือการนำเพลงที่ไม่เคยรู้จักมาร้องให้ ปี่พาทย์รับ ท่านก็สามารถนำวงรอดได้ทุกครา

ผลงานเด่นๆ ของท่านมีมากมาย ได้แก่ - ประดิษฐ์วิธีบรรเลงดนตรี "ทางกรอ" ขึ้นใหม่ในเพลง"เขมรเรียบพระนครสามชั้น"    เป็นผลให้ได้รับพระราชทานเหรียญรุจิทอง ร.5 และ ร.6
- ต้นตำรับเพลงทางเปลี่ยน คือ เพลงเดียวกันแต่บรรเลงไม่ซ้ำกันในแต่ละเที่ยว - พระอาจารย์สอนดนตรีแด่พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จนทรงมีพระปรีชาสามารถ  พระราชนิพนธ์เพลงได้เอง คือเพลง "คลื่นกระทบฝั่งโหมโรง"   "เขมรละออองค์เถา" และ "ราตรีประดับดาวเถา"
- คิดโน๊ตตัวเลขสำหรับเครื่องดนตรีไทยซึ่งได้ใช้มาจนทุกวันนี้
- นำเครื่องดนตรีชวาคือ "อังกะลุง" เข้ามาและได้แก้ไขจนเป็นแบบไทย
- สอนดนตรีไทยในพระราชสำนักเมืองกัมพูชา และได้นำเพลงเขมรมาทำเป็น   เพลงไทยหลายเพลง
- ตันตำรับการแต่งเพลงและบรรเลงเพลง 4 ชั้น
ท่านเป็นคีตกวีในสมัยรัชกาลที่ 6 ถึงรัชกาลที่ 7 ซึ่งนับว่าเป็นดวงประทีปทาง ดนตรีไทย ที่ใหญ่ที่สุดในยุคที่ดนตรีไทยเฟื่องฟูที่สุดด้วย

เรียบเรียงข้อมูลจาก http://www.oocities.com/teerayut_t/jangvangsorn.htm และ http://mitethai.tripod.com/artist.htm

วันอังคารที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

พระเพลงไพเราะ (โสม สุวาทิต)

พระเพลงไพเราะ (โสม สุวาทิต)



ครูโสม เกิดที่ฝั่งธนบุรี เริ่มเรียนระนาดลิเกจากน้าชาย จากนั้นได้เข้าร่วมเป็นนักดนตรีในกองดนตรีของสมเด็จพระบรม (รัชกาลที่ 6) เป็นคนตีระนาดหน้าฉากเวลาละครเปลี่ยนฉาก มีฝีมือในทางระนาดเป็นเยี่ยม ถึงขนาดเคยตีเอาชนะนายชิน ชาวอัพวา ซึ่งเป็นระนาดมือหนึ่งในสมัยนั้นมาแล้ว
นอกจากนั้นยังสามารถตีรับลิเกในเพลงที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนได้ด้วย จนพระยาประสานดุริยศัพท์ชมว่า "โสมแกเก่งมาก ครูเองยังจนเลย"
ครั้งหนึ่งเคยได้ตีระนาดเพลงกราวในถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งทรงพระประชวรให้บรรทม ครั้นตื่นพระบรรทมก็ทรงชมว่า "โสม เจ้ายังตีฝีมือไม่ตกเลย" นับว่าการตีปี่พาทย์ประกอบโขนละครในสมัยนั้น (รัชกาลที่ 5-7) ไม่มีใครสู้ครูโสมได้
ท่านได้บรรดาศักดิ์เป็นพระ เมื่อ พ.ศ.2460 และถึงแก่กรรมเพราะซ้อมระนาดหนักจนพักผ่อนไม่เพียงพอ และทานอาหารไม่เป็นเวลาจนเป็นโรคกระเพาะ รวมอายุได้ 49ปี